ธุรกิจเครือข่าย VS แชร์ลูกโซ่ ความเหมือน ที่แตกต่าง !

          สวัสดีครับ พบกันอีกครั้งกับผม ARTxB วันนี้ขอนำเสนอบทความในหัวข้อ "แชร์ลูกโซ่กับเครือข่ายคนโลภ" ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ หรืองานออนไลน์ที่แพร่หลายกันในทุกวันนี้ และได้เห็นถึงความแตกต่างของธุรกิจเครือข่ายที่ถูกกฎหมาย สามารถทำให้มีรายได้ยั่งยืน กับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ที่มุ่งเน้นการหาผลประโยชน์สูงสุด

          แชร์ลูกโซ่กับเครือข่ายคนโลภ... ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้รายได้หลักขอประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการหารายได้เสริม จึงเป็นช่องทางของกลุ่มมิจฉาชีพที่อาศัยโอกาสในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกระทำการหลอกลวงประชาชนโดยชักชวนให้เข้าร่วมลงทุนด้วยเงินลงทุนจำนวนน้อย แต่ได้รับผลตอบแทน ในอัตราที่สูงมาก ทำให้มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันได้มีกลวิธีการหลอกลวงสารพัดรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ การเก็งกำไรจากการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การเก็งกำไรจากการขึ้นลงของราคาสินค้าเกษตร ธุรกิจซื้อขายดัชนีหลักทรัพย์ต่างประเทศในลักษณะเก็งกำไรจากการขึ้นลงของดัชนีหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งในครั้งนี้จะขอกล่าวถึงการหลอกลวงโดยการแอบอ้างองค์กรพัฒนาเอกชน
          การหลอกลวงประชาชนให้เข้าร่วมลงทุนโดยแอบอ้างองค์กรพัฒนาเอกชนนั้นถือว่าเป็นการระดมเงินจากประชาชนในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งได้ทำการประกาศ ชักชวนประชาชนว่า ตนสามารถแนะนำการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนสูง โดยกลุ่มบุคคลนั้นได้นำเช็คของธนาคารต่างประเทศจำนวนหลายฉบับมาแสดงให้เห็นว่าได้มีองค์กรพัฒนาเอกชนจากต่างประเทศซึ่งได้บริจาคเงินจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ชนกลุ่มน้อยหรือผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย แต่การจะนำเงินบริจาคจำนวนดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยได้ จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนำเงินบริจาคดังกล่าวผ่านกระบวนการแปลงค่าเงินเหรียญสหรัฐให้เป็นสกุลเงินบาท ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวสัญญาว่าเมื่อสามารถแปลงเิงินเป็นเงินบาทได้แล้วจะนำเงินบริจาคมาแจกจ่ายให้กับบุคคลที่เข้าร่วมลงทุนเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราที่สูงมาก เช่น หากลงทุน 1 หมื่นบาท จะได้รับค่าตอบแทนจำนวน 1 ล้านบาท และหากลงทุน 1 แสนบาท จะได้รับค่าตอบแทนจำนวน 40 ล้านบาท ภายใน 30 วัน ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นอัตราที่สูงมาก จนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อตามที่บุคคลได้กล่าวอ้าง อีกทั้งประชาชนบางส่วนยังเข้าใจว่าการทำธุรกิจดังกล่าวเป็นไปในรูปแบบของธุรกิจขายตรงหรือธุรกิจแบบเครือข่าย ซึ่งมีแผนการจ่ายผลตอบแทนแบบเดียวกันกับธุรกิจขายตรง เนื่องจากกลุ่มบุคคลได้มีการสร้างความน่าเชื่อถือโดยการนำเช็คของธนาคารต่างประเทศมาแสดงให้ผู้ร่วมลงทุนเห็น ประกอบกับมีการทำสัญญาให้ผลประโยชน์ตอบแทนกันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ต่อมาเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาการจ่ายผลตอบแทนตามสัญญา กลุ่มบุคคลดังกล่าว กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายผลตอบแทนตามที่ได้ตกลงสัญญาไว้กับผู้ร่วมทุน โดยอ้างว่า มีเหตุขัดข้องบางประการ ในการดำเนินการแปลงเงินบริจาคและยังได้หลอกลวงว่ามีความจำเป็นต้องให้ผู้ร่วมลงทุนจ่ายเงินเพิ่มเติมเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าว แต่สุดท้ายกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่เคยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้สัญญาไว้แก่ผู้ร่วมลงทุนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้ถือเป็นการระดมเงินจากประชาชนในลักษณะของเครือข่ายลูกโซ่อันเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา ๓๔๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ กล่าวคือ กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันหลอกลวงโดยการระดมเงินจากประชาชนด้วยการชักชวนประชาชน หรือบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยเจตนาที่จะเผยแพร่รูปแบบการลงทุนและข้อมูลในการลงทุน รวมถึงผนการจ่ายผลตอบแทนที่มีอัตราสูงด้วยวิธีการบอกต่อกันปากต่อปากเพื่อประชาชนเข้าร่วมลงทุนด้วยเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนำเงินจากองค์กรเอกชนต่างประเทศที่ได้บริจาคให้กับชนกลุ่มน้อยหรือผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทยมาแปลงเป็นเงินบาท โดยสัญญาว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึ่งจ่ายได้ โดยที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ หรือนำเงินไปลงทุนในกิจการใดๆตามที่กล่าวอ้างที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ร่วมลงทุนในอัตราดังกล่าวได้ ทำให้มีประชาชนจำนวนมากต้องได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง
          ดังนั้น หากผู้ใดสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในกิจการใดๆ ก็ตามควรศึกษาข้อมูลการลงทุนและทำความเข้าใจ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของกิจกรรมนั้นๆ ด้วยความระมัดระวังก่อนตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายจากการถูกหลอกลวง ในลักษณะดังกล่าว รวมถึงกลวิธีในการหลอกลวงรูปแบบอื่นๆ ซึ่งมีวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการหลอกลวงไปเรื่อยๆ และหากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขายตรงหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือหากได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนขายตรงและการตลาดแบบตรง โทร 02-629-7005-6 โทรสาร 02-629-7002 www.ocpb.go.th
ขอบคุณที่มา ocpb.go.th ต่อไปขอนำเสนอวีดีโอเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM กับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ครับ



เป็นยังไงบ้างครับ อ่านบทความนี้และดูวีดีโอแล้ว พอจะเห็นภาพและมุมมองชัดเจนยิ่งขึ้นมั้ยครับ? แล้วพบกันในบทความต่อไปครับ... สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น: